การยอมรับปัญหาและหาทางแก้ไข  ?

การอ่านออก เขียนได้

 

ดร.รังสรรค์ สุทารัมย์ ค.ด. (ภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษา)

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก้านเหลืองดง

ปัญหาการอ่าน

O จำรูปและเสียงสระไม่ถูกต้อง

O จำรูปและเสียงพยัญชนะไม่ถูกต้อง

O จำรูปวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง

O ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง

O อ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราไม่ถูกต้อง

O อ่านประสมคำไม่ได้

O อ่านไม่ถูกอักขรวิธี

O อ่านคำพ้องรูปไม่ถูกต้อง

O อ่านคำที่มีอักษรควบ อักษรนำไม่ถูกต้อง

O แบ่งวรรคตอนไม่เหมาะสม

O อ่านตู่ตัว

O อ่านตก อ่านซ้ำ อ่านเกิน อ่านสลับคำ

O อ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจน

O ใช้นิ้วชี้ตัวอักษรขณะอ่าน

O อ่านช้า อ่านไม่คล่อง

O อ่านจับใจความไม่ได้

O ไม่มีสมาธิในการอ่าน

ปัญหาการเขียน

O จำรูปและเสียงสระไม่ถูกต้อง

O จำรูปและเสียงพยัญชนะไม่ถูกต้อง

O จำรูปวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง

O ใส่รูปวรรณยุกต์กำกับไม่ตรงกับเสียงอ่าน

O เขียนตัวอักษรไม่ถูกอักขรวิธี

O เขียนลายมือหวัดไม่เป็นตัว ไม่มีระเบียบ

O เขียนลีลามือไม่ถูกต้อง

O เขียนเว้นช่องไฟไม่สม่ำเสมอ

O เขียนแบ่งวรรคตอนไม่เหมาะสม

O เขียนฉีกคำ

O เขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราไม่ถูกต้อง

O เขียนประสมคำไม่ได้

O เขียนคำที่ประหรือไม่ประวิสรรชนีย์ไม่ถูกต้อง

O เขียนคำที่มีอักษรควบอักษรนำไม่ถูกต้อง

O เขียนคำที่มีสระลดรูปไม่ถูกต้อง

O เขียนคำที่มีสระเปลี่ยนรูปไม่ถูกต้อง

O เขียนคำพ้องเสียงไม่ถูกต้อง

O เขียนคำที่มีตัวการันต์ไม่ถูกต้อง

O เขียนคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศไม่ถูกต้อง

O วางตำแหน่งสระและวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง

O เรียงคำเข้าประโยคไม่ถูกต้อง

O ใช้คำเชื่อมไม่ถูกต้อง

O เรียบเรียงถ้อยคำเป็นเรื่องราวไม่ได้

O เขียนสะกดคำไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี

O วงศัพท์น้อย คิดคำไม่ออก

O เลือกคำมาใช้ไม่ตรงกับความหมาย

พฤติกรรมเสี่ยงที่จะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน

๑.      จำตัวอักษรไม่ได้  ทำให้อ่านไม่ได้หรือจำตัวอักษรได้บ้าง  แต่อ่านเป็นคำไม่ได้

๒.    อ่านช้า  มีความยากลำบากในการอ่าน  เช่น  อ่านคำต่อคำ  จะต้องสะกดคำจึงจะอ่านได้

๓.     อ่านผิด  เช่น  อ่านคำผิด  อ่านผิดประโยคหรือผิดตำแหน่ง

๔.     อ่านข้ามคำ  อ่านเพิ่มคำหรือลดพยัญชนะในคำ  อ่านฉีกคำ

๕.     อ่านคำโดยสลับตัวอักษร

๖.      อ่านเดาจากตัวอักษรบางตัวที่มีอยู่ในคำ

๗.     อ่านเว้นวรรคไม่ถูกต้อง

๘.     ตอบคำถามจากเรื่องที่อ่านไม่ได้

๙.      เล่าเรื่องที่อ่านตามลำดับเหตุการณ์ไม่ได้

๑๐.  บอกใจความสำคัญของเรื่องไม่ได้

พฤติกรรมเสี่ยงที่จะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน

    ๑. เขียนไม่เป็นตัวอักษร  เขียนอ่านไม่ออก  เขียนวนๆไปมา  เขียนหนังสือตัวโต

    ๒. เขียนไม่ตรงบรรทัด  เขียนเกินบรรทัด  เขียนไม่เต็มบรรทัด

    ๓. เขียนตัวอักษรไม่เท่ากัน

     ๔. เขียนตัวอักษรหัวกลับหรือกลับด้าน

     ๕. เขียนตัวอักษรติดกัน  ไม่เว้นช่องไฟ

     ๖. เขียนผิด  เขียนลบบ่อย  เขียนทับคำเดิมหลายครั้ง

     ๗.เขียนตัวอักษรหรือวรรณยุกต์ตกหล่น  ไม่ตรงตำแหน่ง

     ๘. เขียนอักษรในคำสลับที่กัน  เรียงลำดับอักษรผิด

     ๙. เขียนประโยคง่ายๆ ไม่ได้

     ๑๐. เขียนตามที่กำหนดไม่ได้

     ๑๑. เขียนเรียงลำดับเหตุการณ์ไม่ได้

     ๑๒ เขียนบรรยายภาพ  เล่าเรื่อง  แสดงความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการไม่ได้

ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้

 1.สร้างแรงบันดาลใจ

               แรงบันดาลใจที่ทำให้ครูมุ่งมั่นพัฒนาให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ (ดียิ่งขึ้น)  มีดังนี้

               1.1 เป็นความรู้สึกรับผิดชอบของครูที่ต้องพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะในภาษาไทย เกิดความภูมิใจในมรดกของชาติ คือ ภาษาไทย

               1.2 การที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยต่ำซึ่งเป็นภาษาของคนไทย ดังนั้นจึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหานี้

               1.3 ครูเห็นความจำเป็นที่ต้องฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการประมวลความคิด สรุปความรู้ ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า เขียนเป็นความเรียงในระดับที่สูงขึ้น

2.แนวทางการจัดการเรียนรู้

               แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ส่งให้นักเรียนมีความสามารถในการใช้ภาษาไทย และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีตัวอย่าง ดังนี้

               2.1 กิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่าน

                     2.1.1 การฝึกการอ่านให้คล่อง อาจฝึกตามกิจกรรมต่อไปนี้

                          1) ฝึกอ่านคำพื้นฐาน

                          2) ฝึกอ่านคำยากจากบทเรียน

                          3) ใช้แบบฝึกทักษะการอ่านที่หลากหลาย

                          4) ฝึกทักษะโดยใช้กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน

                     2.1.2 จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน อาจฝึกตามกิจกรรมต่อไปนี้

                          1) อ่านแล้วบันทึกความรู้โดยการบันทึกแหล่งอ้างอิงของเรื่องที่อ่าน

                          2) อ่านแล้วเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง

                          3) กิจกรรมวางทุกงานอ่านทุกคนวันละ 15 นาที

                          4) ฝึกอ่านแล้ววาดรูปจากเรื่องที่อ่าน

                          5) ฝึกอ่านแล้วตั้งคำถามจากเรื่องที่อ่าน

                          6) ฝึกอ่านแล้วเขียนเรื่องใหม่จากเรื่องที่อ่านโดยการดัดแปลง สร้างสรรค์เนื้อหาใหม่จากเรื่องที่อ่านโดยการดัดแปลง สร้างสรรค์เนื้อหาใหม่แต่คงยึดเค้าโครงเรื่องเดิม

                          7) ฝึกกิจกรรมภาษาไทยวันละคำ

                            8) ฝึกวันละหนึ่งสำนวนช่วยกันอ่าน

                 2.1.3 ฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ อาจฝึกตามกิจกรรมต่อไปนี้

                        1) อ่านคำสำนวน

                        2) ฝึกอ่านแล้วแปลความหมายของคำ

                        3) อ่านแล้วตั้งคำถาม

                        4) อ่านวิเคราะห์บทเพลง

                        5) อ่านวิเคราะห์นิทาน

                        6) อ่านวิเคราะห์ข่าว

                        7) อ่านวิเคราะห์บทกวี ร้อยกรอง

                        8) อ่านวิเคราะห์บทความ

                        9) อ่านวิเคราะห์ภาพการ์ตูน

                         10) อ่านวิเคราะห์คำถาม

                  2.2 กิจกรรมพัฒนาทักษะการเขียน

                        2.2.1 เขียน (จัดทำ) หนังสือเล่มเล็ก หรือหนังสือภาพ

                        2.2.2 เขียน (จัดทำ) “หนังสือพิมพ์ยักษ์”

                        2.2.3 กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนเขียน

                        2.2.4 เขียนตามคำบอก

                        2.2.5 เขียนคำอ่าน

                        2.2.6 เขียนจากเรื่องที่กำหนดให้

                        2.2.7 เขียนบันทึกจากการฟัง โดยการเขียนให้ครอบคลุมประเด็นเรื่องต่าง ๆ เช่น อะไร   จากใคร ที่ไหน เมื่อไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร มีข้อคิดความเห็นเป็นอย่างไร

                        2.2.8 ฝึกทักษะการเขียนจากแบบฝึกที่หลากหลาย

สรุป ภาษาไทยเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ ถ้านักเรียนยังอ่านออกและเขียนไม่ได้ดี ก็ยากที่จะเรียนรู้เนื้อหาสาระในกลุ่มสาระอื่นได้ ครูจึงต้องตระหนักในเรื่องนี้และให้ความสำคัญในการฝึกทักษะการอ่าน เขียนให้กับนักเรียน แต่ที่สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็คือครูต้องเป็นแบบอย่างในการอ่าน เขียนให้กับนักเรียนด้วย พยามยามใช้สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ที่มีในโรงเรียน ชุมชน ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ในการสร้างนิสัยรักการอ่าน เขียนคุณครูต้องฝึกให้ได้ เพราะว่าการอ่านเท่านั้นที่ทำให้เข้าใจโลก นรก สวรรค์ได้ถูกต้อง หลักสำคัญให้ครูยึดคาถาที่ว่า “สอนย้ำ ซ้ำ ทวน ทบทวนเป็นประจำ นำสู่ความสำเร็จ”

อ้างอิงมาจาก

  1. คู่มือการใช้แบบทดสอบคัดกรองและแบบทดสอบวินิจฉัยสภาพทางการเรียนรู้ด้านการอ่านและการเขียน . ชมรมภาษาไทย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4, ม.ป.ป.

  2. จัดการเรียนการสอนอย่างไรจึงจะยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น. เอกสารลำดับที่ 6/2554

          กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 2, 2554.

โพสท์ใน Uncategorized | ใส่ความเห็น

ความเป็นครูตามหลักพุทธ

ความเป็นครูตามหลักพุทธ

 

คุณลักษณะสำคัญของครูอาจารย์จากพระไตรปิฎก ได้แก่

       ๑. เป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารสี่

       ๒. มีความเป็นพหูสูตในศิลปศาสตร์ที่ตนจะถ่ายทอดให้แก่ศิษย์

       ๓. ต้องเข้าใจ และรู้จักวิธีการที่จะสร้าง และปลูกฝังองค์ธรรม คือ “ อิทธิบาท ๔” ลงในจิตสำนึกของศิษย์

หัวข้อที่ ๑ เรื่อง “พรหมวิหารสี่” คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
        ประเด็นนี้ได้เป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไปในจิตใจของพสกนิกรประชาชนคนไทยอย่างลึกซึ้งแน่นแฟ้นแล้วว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงไว้ซึ่ง ทศพิธราชธรรม จึงเพียบพร้อมสมบูรณ์ในองค์ธรรมเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมจึง จะขอข้ามไป

หัวข้อที่ ๒ “ความเป็นพหูสูต”
        เรื่องนี้ จำเป็นต้องขยายความพอสมควร คำว่า “พหูสูต” นี้หมายถึง “ความเป็นผู้ฉลาดรู้” เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่จะ เกิดขึ้นได้กับ บุคคลที่มีนิสัยและคุณลักษณะ ดังนี้

       ๑. ชอบอ่าน ชอบฟัง ชอบค้นคว้า
       ๒. มีความจำดี รู้จักจับหลักและสาระสำคัญแล้วจดจำได้อย่างแม่นยำ
       ๓. มีความตั้งใจหมั่นท่องจดจำได้จนขึ้นใจชัดเจนโดยไม่ต้องเปิดตำรา เมื่อจะกล่าว ถึงเรื่องใด ก็สามารถกล่าวได้ด้วยความมั่นใจอย่างคล่องปาก
       ๔. มีความตั้งใจขบคิด ตรึกตรอง พิจารณาสาวหาเหตุหาผลให้ได้จนเจนจบ สามารถเข้าใจรู้เรื่อง ระลึกเรื่องได้โดยตลอดทะลุปรุโปร่ง
        ๕. มีปัญญามีความรู้และเข้าใจเรื่องราวทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้ง   คุณลักษณะสำคัญในประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะคงจะไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวของเราชาวไทยทรงมีพระราชอัจฉริยภาพ และความเป็นพหูสูตใน วิชาการทั้งศิลป์และศาสตร์ทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นวิชาวิศวกรรมศาสตร์ด้านสื่อสารโทรคมนาคม แผนที่ การจราจร เกษตรศาสตร์ ชลประทาน อุตุนิยมวิทยา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ การทหาร การดนตรี กีฬา การศึกษา อักษรศาสตร์ สถิติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งวิชาโหราศาสตร์

หัวข้อที่ ๓ เกี่ยวกับเรื่อง “ อิทธิบาท ๔”
       เป็นหัวข้อที่รู้จักกันโดยทั่วไปดีอยู่แล้ว คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คำว่า “ อิทธิบาท ๔” นี้ เป็นองค์ธรรม ที่จะเกื้อหนุนให้ผู้ปฏิบัติบรรลุความสำเร็จ ในภารกิจหน้าที่ของตนได้ ครูอาจารย์ ต้องมีคุณสมบัตินี้อยู่ในตัว เพราะ จะเกื้อกูลให้ผู้นั้นประสบ ความสำเร็จ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ในกรณีนี้ก็คือ วิชาอาชีพครู แต่ก็มี ประเด็นสำคัญ ที่น่าสนใจที่ผมได้กล่าวไว้ว่า ต้องเข้าใจ และรู้จักวิธีการ ที่จะสร้าง และ ปลูกฝังองค์ธรรม คือ “ อิทธิบาท ๔” ลงในจิตสำนึกของศิษย์ นั้นเป็นอย่างไร

          คำว่า “ฉันทะ” นั้นได้แก่ วิธีการที่จะปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ลูกศิษย์ ให้มีความรัก ความพอใจ ในหัวข้อวิชาที่ตน กำลังจะเรียน มีหัวข้อวิชา บางหัวข้อ ที่ลูกศิษย์เห็นแล้ว มีความรู้สึกว่า เสมือนยาขมหม้อใหญ่ เช่น วิชาพุทธศาสตร์ เป็นต้น เพราะเข้าห้องเรียนทีไร หรือ ฟังพระเทศน์ พระสวดทีไร ฟังไม่รู้เรื่อง ง่วงเหงาหาวนอนที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องเรียน เพราะ เป็นวิชาที่มีหน่วยกิต เนื้อหาวิชาที่สอนก็ไม่เห็นจะมีอะไร มีแต่ การให้ลูกศิษย์ มาท่องบทสวดมนต์ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง ให้ครูฟัง ทำไปด้วยความจำเป็นจำใจ เพราะ ไม่มีความรัก ความพอใจ คือ “ฉันทะ” ครูก็จะต้อง ปรับปรุง พัฒนาวิธีการสอน หาทางกระตุ้นให้ศิษย์เข้าใจและเห็นความสำคัญว่า วิชานี้เกี่ยวข้องกับ พระธรรมคำสั่งสอน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องของความจริงที่ไม่มีการบิดเบือนแปรผันเป็นอย่างอื่นไปได้ ไม่ว่ากาลเวลา จะเปลี่ยนไป เราสามารถ นำเอาความจริงเหล่านี้ มาใช้เพื่อ ประโยชน์ สุขของตนเอง สังคม และประเทศชาติได้ ผู้ใดได้ยึดมั่น และถือปฏิบัติตามย่อมมีแต่ความสุข ความเจริญ เป็นต้น

           คำว่า “ วิริยะ” นั้น เมื่อศิษย์มีความรัก ความพอใจในหัวข้อวิชาที่จะเรียนแล้ว ความเพียร หรือ “ วิริยะ” ความสนใจ ความเอาใจใส่ มีจิตใจจดจ่อ กระตือรือร้นที่จะขวนขวาย ศึกษาในหัวข้อวิชานั้นเพิ่มเติม รวมทั้ง การหมั่นศึกษาค้นคว้าให้มีความรู้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้ง ภายใน และ นอกห้องเรียน คือ “ จิตตะ และ วิมังสา” ก็จะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ผู้ที่มีองค์ ธรรม คือ “อิทธิบาท ๔” ประสบความสำเร็จในการศึกษา และ เมื่อได้มีการพัฒนาปัญญาเพิ่มเติมความเป็นพหูสูตก็จะเกิดขึ้น

ลักษณะของครูดีตามคำสอนในพุทธศาสนา

หลักคำสอนหรือหลักธรรมในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความเป็นครู ประกอบด้วยหลักธรรม 7 ประการ คือ

       1. ปิโย น่ารัก คือ การทำตัวเป็นที่รักต่อศิษย์และบุคคลทั่วไป การที่ครูจะเป็นที่รักแก่ศิษย์ได้ ก็ควรตั้งตนอยู่ในพรหมวิหาร 4 คือ

            1.1 มีเมตตา ปรารถนาดีต่อศิษย์ หาทางให้ศิษย์เป็นสุขและเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต คอยระวังมิให้ศิษย์ตกอยู่ในความประมาท

            1.2 มีกรุณา สงสาร เอ็นดูศิษย์ อยากช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ ความไม่รู้

            1.3 มีมุทิตา คือ ชื่นชมยินดีเมื่อศิษย์ได้ดี และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง

            1.4 มีอุเบกขา คือ วางตัวเป็นกลาง จิตใจที่ตั้งอยู่ในความยุติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ  

       2. ครุ หมายถึง การเป็นบุคคลที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งในด้านของจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง ที่จะดำรงตนอยู่ใน ความดีไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา และความหนักแน่นในด้านของความรอบรู้ธรรม ที่จะช่วยให้ครู มีคุณสมบัติ ดังกล่าว คือ พละ 5 ประการ ได้แก่

            2.1 ศรัทธาพละ คือ มีความเชื่อในทางที่ชอบ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

           2.2 วิริยะพละ คือ ความเพียรในทางที่ชอบ คือ เพียรเลิกละความชั่ว เพียรระวังความชั่วไม่ให้เกิดในสันดาน

           2.3 สติพละ หมายถึง ความระลึกได้ มีความรู้สึกตัวในการกระทำ การพูด การคิดให้รอบคอบ

           2.4 สมาธิพละ หมายถึง ความมีใจจดจ่อแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่เป็นบุญกุศล พลังสมาธินี้จะเป็นกำลังต่อต้าน ความฟุ้งซ่านมิให้เกิดขึ้นในใจ

           2.5 ปัญญาพละ หมายถึง ความรอบรู้ คือรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำอะไรควรเว้น อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไร้ประโยชน์ 

     3. ภาวนิโย การเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความประพฤติดีงามควรแก่การเคารพ

     4. วัตตา คือ เป็นผู้มีมานะในการตักเตือนสั่งสอน เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดี คือใช้ความรู้ ความสามารถไปในทางสุจริต เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่นได้ ลักษณะการสอนในแง่ของพุทธศาสนามี 5 ประการ คือ

           4.1 สันทัสสนา คือ สอนให้เข้าใจชัดเจน เห็นจริงอย่างที่ต้องการ ซึ่งจะต้องดำเนินไปตามลำดับขั้นดังนี้ คือ สอนจากสิ่งที่รู้แล้ว ไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ สอนจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งยาก สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม

           4.2 สมาทปนา มีการกระตุ้นเร่งเร้า เพื่อให้เกิดความกระตือรืนร้นที่จะประพฤติปฏิบัติตามที่ครูสอน

           4.3 สมุตเตชนา สร้างกำลังใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ไม่ครั่นคร้าม ต่อความยากลำบากหรืออุปสรรคใดๆ

            4.4 สัมปหังสนา สร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้เรียน คือมีเทคนิคในการสอนที่จะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจ

       5. วจนักขโม เป็นผู้มีความอดทนต่อถ้อยคำโดยมีเจตนาดีเป็นที่ตั้งการอดทนต่อกริยา วาจาอันก้าวร้าวรุนแรงของ ผู้อื่นได้นั้น เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง

        6. คัมภีรัญจกถัง กัตตา สามารถขยายข้อความที่ยากให้ง่ายแก่การเข้าใจได้ การตีความในวิชาการนั้นๆ ให้ละเอียดลึกซึ้งง่ายแก่การเข้าใจ เพราะวิชาการต่างๆ ที่ครูนำมาสอนนั้นล้วนเป็นเรื่องที่ผู้เรียนไม่เคยเรียนมาก่อน ครูจะต้องมีวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องยากๆ ได้โดยง่าย โดยวิธีการ ดังนี้คือ

            6.1 แสดงจุดเด่น หัวข้อสำคัญๆ หรือโครงสร้างของวิชานั้น เพื่อให้ ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอด ก่อนที่จะอธิบาย ในรายละเอียดต่อไป

            6.2 แสดงเหตุผลในวิชานั้น เช่น อธิบายจากเหตุไปสู่ผล อธิบายจากผลไปสู่สาเหตุ ยกตัวอย่างประกอบหรือ เปรียบเทียบกับเนื้อหาของวิชาอื่นๆ ที่ใกล้เคียง

            6.3 แสดงเนื้อหาที่เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของวิชานั้นๆ ตลอดจนชี้ให้เห็นคุณค่าในเชิงปฏิบัติ เพราะผู้เรียน จะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวสามารถนำมาปฏิบัติได้

         7. โนจัฏฐาเน นิโยชเย คือ การรู้จักและแนะนำศิษย์ไปในทางถูกที่ควรหมายถึง ไม่นำศิษย์ไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือชักชวนไปสู่อบายมุข เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ วิธีการแนะนำศิษย์ไปใน ทาง ที่ถูกที่ควรนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ

            7.1 คิดหาวิธี ใช้วิธีขู่กำหราบ เป็นวิธีเตือนให้ศิษย์รู้สึกตัวและ ละความชั่ว กล่าวคือ เมื่อเห็นศิษย์ ประพฤติ ไปใน ทางที่ไม่ถูกไม่ควร

            7.2 นัคคหวิธี ใช้วิธียกย่องชมเชย เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดนิสัยที่ดีและป้องกันไม่ให้เกิดนิสัยที่ไม่ดี เมื่อใด ที่เห็นศิษย์ทำความดีครูจะต้องยกย่องชมเชย

            7.3 ทิฎฐานคติวิธี ใช้วิธีกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ครูต้องการให้ศิษย์ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ครูก็ต้องปฏิบัติตน เช่นนั้นให้ศิษย์ได้เห็นเป็นตัวอย่าง

ครูที่ดีตามทัศนะพุทธทาสภิกขุ

       พุทธทาสภิกขุได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับครูที่ดีไว้ในการบรรยาย ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี วันที่ 4-9 กันยายน 2527 สรุปได้ดังนี้คือ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2529 : 109 – 124)

   1. ครูดี คือ ผู้นำทางวัตถุ หมายถึง การเป็นผู้นำใน 4 ประการดังนี้ คือ

        1.1 เป็นผู้นำในการแสวงหาอย่างถูกต้อง ยึดหลักการแสวงหาอย่างสัตบุรุษไม่ก่อให้เกิดทุกข์ ทั้งแก่ตนเองและ ผู้อื่น ไม่กระทบกระทั่งให้ผู้อื่นเดือดร้อน

        1.2 เป็นผู้นำในการเสวยผลอย่างถูกต้อง หมายถึง ไม่ผูกขาดเอาผลที่ได้รับจากการแสวงหามาเป็นของตนแต่ ผู้เดียว แต่จะต้องเผื่อแผ่ไปให้แก่ผู้อื่นโดยรอบด้าน

         1.3 เป็นผู้นำในการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง คือ ดำเนินชีวิตโดยปฏิบัติตามอริยมรรค อันมีองค์แปด ซึ่งเมื่อปฏิบัติ จนถึงที่สุดแล้วจะเกิดปัญญาเห็นธรรมชาติ ตามสภาพที่เป็นจริง คือ ความไม่มีตัวตน ทุกสิ่งเป็นเพียง ผลการปรุง แต่งของธาตุต่างๆ ตามธรรมชาติ และจะต้องเกิด-ดับ ไป ตามสภาพ จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา อันจะก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว และเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

         1.4 เป็นผู้นำในการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

    2. เป็นผู้นำทางวิญญาณ หมายถึง ความเป็นผู้นำในเรื่องจิตใจ 4 ประการดังนี้คือ

          2.1 มีความเข้าใจในกฏอิทิปปัจจัยตา คือ มองเห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งในโลกนี้เป็นไปตามเหตุตาม ปัจจัย เมื่อมีเหตุมีปัจจัยอย่างไรก็มีผลไปตามเหตุตามปัจจัย

          2.2 มีความเข้าใจกฏตถตา ตถตาเป็นภาษาบาลี แปลว่า เป็นเช่นนั้นเอง คือ ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ เช่น มีการเกิดก็ต้องมีตาย ในความสบายก็มีความเจ็บไข้ซ่อนอยู่ การเจ็บการตายล้วนเป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ ไม่ใช่โชคร้ายหรือเคราะห์ภัยอะไรทั้งสิ้น เป็นต้น

          2.3 มีความเป็นอยู่อย่างไม่มีอุปสรรค คือ ไม่ถือเอาอุปสรรคเป็นสิ่งขัดขวางหรือทำให้ท้อถอย แต่ให้ยินดีรับเอา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิต ในการงานหรือในจิตใจมาเป็นบทเรียนที่จะช่วยให้มีความรู้มีประสบการณ์ และมีความ สามารถในเรื่องนั้นๆ ดียิ่งขึ้น

         2.4 มีความเป็นอยู่อย่างไม่มีทุกข์ ความทุกข์เกิดจากความไม่รู้ เช่น เมื่อมีความต้องการแล้วไม่เป็น ไปตาม ความต้องการที่เกิดความทุกข์ ถ้าไม่ต้องการให้เกิดทุกข์ก็ต้องให้ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ต้องการให้มาก ไป กว่า ความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น

     3. มีชีวิตเป็นธรรม คือ อยู่ด้วยธรรมและเพื่อธรรม หมายถึง ใช้กรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตเพื่อ ให้ได้ผลคือธรรมที่พึงปรารถนา เช่น การดับทุกข์ ธรรมที่เป็นเครื่องมืออยู่มากมาย เช่น

     ฆราวาสธรรม อัน เป็นธรรม สำหรับผู้ครองเรือนมี 4 ประการคือ

      1. สัจจะ ความจริง

      2. ทมะ ความข่มใจ

      3. ขันติ ความอดทน

      4. จาคะ การเสียสละ การให้

    อิทธิบาท 4 คือ ธรรมที่ช่วยให้สำเร็จประโยชน์มี 4 ประการคือ

       1. ฉันทะ ความพอใจในสิ่งนั้น

       2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

       3. จิตตะ ความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น

       4. วิมังสา ความสอดส่องค้นคว้าในสิ่งนั้น

       อย่างไรก็ตามธรรมบางประการก็เป็นได้ทั้งธรรมที่เป็นเครื่องมือ และธรรมที่เป็นผลเช่น ใช้ศีลเป็นเครื่องมือ ให้เกิดสมาธิ สมาธิจึงเป็นผลที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดผลคือปัญญา เป็นต้น

    4. มีอุดมคติ ครูดีจะต้องมีอุดมคติ 4 ประการ คือ

       4.1 ทำงานเกินค่า คือทำงานให้แก่โลกเกินค่าที่ได้รับตอบแทนจากสังคม เพราะครูเป็นผู้สร้างทางจิตใจ ซึ่งมีค่าเกินกว่าจะตีค่าเป็นเงิน

       4.2 ทำงานเพื่อหน้าที่มิใช่เพื่อตนเอง ไม่เห็นแก่ตัว และไม่หวังประโยชน์ส่วนตน

       4.3 ทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ไม่หลงใหลในความสุขทางกาม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ

       4.4 ทำงานเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือ เป็นผู้มีธรรมและมีชีวิตเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและแก่โลก

ที่มา : http://www.oknation.net 

อ้างถึงใน http://www.sobkroo.com สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2554

โพสท์ใน Uncategorized | ใส่ความเห็น

Hello world!

Welcome to WordPress.com. This is your first post. Edit or delete it and start blogging!

โพสท์ใน Uncategorized | 2 ความเห็น